ความเคลื่อนไหวในไทยแลนด์ ยุค 4.00

ความเคลื่อนไหวในไทยแลนด์ ยุค 4.00

“ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ” ประชุมชี้แจงผลกระทบต่อผู้บริโภคสถานการณ์ “ปลอมแปลงเนื้อสุกรเป็นเนื้อวัว” ระบาดทั่วไทย หวังรัฐวางมาตรการช่วยเรื่องอย่างเป็นรูปธรรม

 

ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ปกรณ์ ปรียากร ผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย และนายมารุต เมฆลอย จากสมาคมการค้าและนักธุรกิจไทยมุสลิม เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อหาแนวทางป้องกันการการปลอมแปลงเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะสถานการณ์ “ปลอมแปลงเนื้อสุกรเป็นเนื้อวัว” ระบาดทั่วโดย เพื่อร่วมกันกำหนดเพิ่มบทลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคและสร้างความเชื่อมั่นต่อเครื่องหมายการรับรองฮาลาลประเทศไทย ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ อาคารรัฐสภา (เกียดกาย)

รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากกรณีการปลอมแปลงเนื้อสุกรให้เป็นเสมือนเนื้อวัว เพื่อนำมาขายแก่ผู้บริโภคเกิดขึ้นตั้งแต่ ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2563 โดยมีผู้นำมาจำหน่ายแก่ ผู้ประกอบการร้านอาหารในชุมชนมุสลิมละแวกต่างๆ รวมทั้งการสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งเกิดความวิตกกังวลต่อผู้บริโภคทั้งที่เป็นมุสลิมและมิใช่มุสลิม โดยได้มีผู้บริโภคผู้ประกอบการร้านอาหาร และองค์กรศาสนาอิสลาม ทั้งมัสยิดในชุมชนเริ่มนำส่งตัวอย่างเนื้อที่ต้องสงสัย ทั้งในรูปของเนื้อสดและที่แปรรูปแล้ว เข้ามาให้ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กว่าเป็นจำนวนทั้งสิ้น ๔๒ ตัวอย่าง ผลการวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการพบว่าเนื้อต้องสงสัยที่ส่งเข้ามาทำการตรวจสอบนั้น เป็นเนื้อวัวปลอม ที่มาจากการที่ผู้ผลิตนำเนื้อสุกรมาหมักด้วยเลือดวัวสด กว่า 70% ขณะเดียวกันตัวอย่างเนื้อที่ได้มาจากการที่ผู้บริโภคสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ ได้ตรวจพบว่าเป็นเนื้อสุกรทั้งหมด ก่อให้เกิดความวิตกกังวลต่อผู้บริโภคทั้งที่เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม สร้างภาวะขาดความเชื่อมั่นต่อเนื่องไปถึงเนื้อวัวที่ขายในท้องตลาดโดยทั่วไป ผู้บริโภคที่เป็นมุสลิมยิ่งมีความวิตกกังวล ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงเรียกร้องให้องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรศาสนาอิสลาม ดำเนินการตรวจสอบและวางมาตรกรป้องกันให้เด่นชัด เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นการกระทำที่เข้าข่ายการหลอกลวง ผู้บริโภคอย่างชัดเจน

โดยศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีมติดำเนินการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนเพื่อนำไปสู่ความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค 5 มาตรการประกอบด้วย

1. มาตรการสื่อสารเตือนภัยผู้บริโภค

2. มาตรการป้องปรามผู้ค้า

3. มาตรการปราบปรามผู้กระทำความผิด

4. มาตรการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานฮาลาล

5. มาตรการการสร้างความเชื่อมั่นในการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) จากโรงเชือดสัตว์ถึงผู้บริโภค

นอกจากนี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ ยังให้บริการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างเนื้อวัว หากผู้บริโภคท่านใดสงสัยว่าอาจจะเป็นเนื้อหมู เพื่อสร้างความร่วมมือในการแก้ปัญหาร่วมกัน โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.halalscience.org


ทั้งนี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จัดประชุมร่วมกับคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อชี้แจ้งและอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์ “ปลอมแปลงเนื้อสุกรเป็นเนื้อวัว” พิจารณาทบทวนพระราชบัญญัติและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางในการป้องกันการปลอมแปลงเนื้อสัตว์ เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคและสร้างความเชื่อมั่นต่อเครื่องหมายการรับรองฮาลาล ประเทศไทยต่อไป รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน กล่าวปิดท้าย

ไม่มีความคิดเห็น

รูปภาพธีมโดย graphixel. ขับเคลื่อนโดย Blogger.