“มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย)” เปิดตัวอย่างเป็นทางการ หลังมุ่งมั่นทำงานช่วยเหลือเด็กในประเทศไทยมากว่า 40 ปี
กรุงเทพ, 13 พฤศจิกายน 2565 - มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) หรือ Save the Children (Thailand) Foundation ได้จัดงานเปิดตัวมูลนิธิฯ อย่างเป็นทางการ ณ โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค หลังจากทำงานในประเทศไทยมายาวนานกว่า 40 ปี พร้อมประกาศเจตนารมณ์ที่จะช่วยเหลือเด็กในประเทศไทยไม่ว่าจะสถานะใดโดยการเปิดตัวแคมเปญหลักระยะเวลา 3 ปี ที่จะพูดถึงเรื่องสุขภาพจิตในกลุ่มเด็กและเยาวชน
องค์การ Save the Children ได้ดำเนินการมาเป็นเวลากว่า 100 ปีนับตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กทั่วโลก และได้ร่วมพัฒนาร่างแรกของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก โดยได้เริ่มทำงานในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2522 และตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา ได้ให้การช่วยเหลือและสนับสนุนเด็กในค่ายผู้ลี้ภัย ต่อต้านการค้าเด็กและมนุษย์ ให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในสถานการณ์ภัยพิบัติ รวมถึงได้จัดทำโครงการต่างๆเพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพและทักษะของเด็ก เยาวชน และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับเด็กในด้านการศึกษา การปกป้องคุ้มครองเด็ก การลดผลกระทบต่อชุมชนในสามจังหวัดชายแดนใต้จากการระบาดของโรคโควิด-19 และการเสริมสร้างความเข้าใจต่อกลุ่มเยาวชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ เป็นต้น
ในปี พ.ศ.2565 องค์การ Save the Children ได้จดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิในประเทศไทยโดยใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า “มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย)” การเปิดตัวในฐานะมูลนิธิฯ ในประเทศไทยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้มูลนิธิฯ สามารถทำงานช่วยเหลือเด็กที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานรวมถึงเด็กกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากความไม่เท่าเทียมได้อย่างเต็มที่
ในงานเปิดตัวมูลนิธิฯ คุณประเสริฐ ทีปะนาถ ผู้อำนวยการมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) กล่าวถึงการจดทะเบียนเป็นมูลนิธิในประเทศไทยว่า “ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีในการทำงาน เราได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมไปถึงจากเด็กและเยาวชนเองด้วย ทำให้เราตระหนักว่ายังมีเด็กอีกมากมายที่ยังเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือ เราจึงมุ่งมั่นที่จะขยายงานในประเทศไทยให้มากยิ่งขึ้น จึงเป็นที่มาของการเปลี่ยนสถานะการทำงานของเราจากองค์การ Save the Children โดยการจดทะเบียนในประเทศไทยในชื่อ ‘มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย)’ เพื่อจะทำให้เราสามารถสานต่อพันธกิจนี้ต่อไปได้ และจะเพิ่มโอกาสในการมีส่วนร่วมและได้รับการสนับสนุนจากภาคสังคม สถาบัน และองค์กรต่างๆในประเทศไทย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนให้มากขึ้นผ่านการทำงานในโครงการต่างๆ”
คุณวีระนุช ธรรมาวรานุคุปต์ ประธานกรรมการมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) ได้กล่าวเปิดงานว่า “ในวันนี้เด็กและเยาวชนต้องเผชิญกับปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความขัดแย้ง ภัยพิบัติที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เด็กมีความเสี่ยงต่อการถูกกระทำความรุนแรง การล่วงละเมิด และการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
ปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราไม่สามารถแก้ไขได้ง่าย ความท้าทายเหล่านี้ต้องการแนวทางและความมุ่งมั่นจากหลายฝ่ายที่มีความคิดคล้ายกับเรา ดังเช่นทุกท่านในที่นี้ซึ่งมีวิสัยทัศน์ในการทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กๆ เพราะเราไม่สามารถทําสิ่งนี้ได้โดยลําพัง ด้วยเหตุนี้จึงเป็นความหวังจากคณะกรรมการฯ ว่า มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) จะทํางานอย่างใกล้ชิดและร่วมมือกับทุกท่านในฐานะภาคีเครือข่ายที่นำจุดแข็งขององค์กรที่แตกต่างกันในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับเด็กๆ”คุณสุนีย์ ศรีสง่าตระกูลเลิศ รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้กล่าวถึงแนวคิดสําหรับความร่วมมือกับมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) ว่า “ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) ได้ร่วมขับเคลื่อนงานด้านการคุ้มครองเด็กกับกรมกิจการเด็กและเยาวชน ทั้งในระดับของการร่วมกําหนดนโยบาย และการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติ รวมถึงการศึกษาแนวปฏิบัติและพัฒนาต้นแบบการคุ้มครองเด็กในประเด็นต่างๆ”
“สิ่งที่มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) ได้ดําเนินการตลอดระยะเวลาหลายปีได้เกิดผลเป็นที่ประจักษ์และเกิดประโยชน์โดยตรงต่อเด็ก ผู้ปฏิบัติงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และในปี 2565 นี้ กรมกิจการเด็กและเยาวชนจะเฉลิมฉลองครอบรอบ 30 ปีการเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ด้วยการร่วมขับเคลื่อนงานร่วมกับภาคีเครือข่ายที่สําคัญอย่างมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) เพื่อร่วมสนับสนุนการคุ้มครองเด็ก โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เด็กและเยาวชนอยู่ดีมีสุขในสังคมแวดล้อมที่เป็นมิตรและปลอดภัย”
มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) มุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือและสนับสนุนเด็กทุกคน เพราะเด็กมีสิทธิที่จะมีชีวิตที่ดี มีความสุขทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพื่อให้พวกเขาได้มีอนาคตที่สดใสและเติบโตไปเพื่อสร้างสังคมที่ดีต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น