ความเคลื่อนไหวในไทยแลนด์ ยุค 4.00

ความเคลื่อนไหวในไทยแลนด์ ยุค 4.00

พสบ.ทบ. เปิดตัว ประธานชมรมคนใหม่ พร้อมขับเคลื่อน และสานต่อโครงการสำคัญของกองทัพบก เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์

ประธานชมรม พสบ.ทบ.คนใหม่  สานต่อโครงการสำคัญของกองทัพบก จัดทำธงชาติ  2,000 ผืน โดยกรมพลาธิการ กองทัพเรือ เพื่อมอบให้หมู่บ้านริมขอบชายแดนเพื่อทดแทนผืนธงชาติเดิมที่ชำรุดไปตามกาลเวลา  เสริมสร้างอุดมการณ์ความรัก ชาติ ศาสน์ กษัตริย์  เทิดทูน สถาบันอันเป็นศูนย์รวมจิตใจและเป็นที่เคารพรักยิ่งของปวงชนชาวไทย  ผ่านผืนธงชาติไทย

นางสาวภารดี วรเกริกกุลชัย เปิดเผยภายหลังเข้ารับตำแหน่ง ประธานชมรมพัฒนาสัมพันธ์ระดับผู้บริหารกองทัพบก หรือ พสบ.ทบ. วาระ พ.ศ.2565 - 2566 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไปว่า แนวทางในการบริหารชมรมฯ นั้น จะบริหารงานในลักษณะจากภาพรวมใหญ่ ลงไปสู่จุดเล็ก กล่าวคือ พิจารณาจากนโยบายหลักๆ ของงานกิจการพลเรือนทหารบก ได้แก่ การเรียนรู้งานความมั่นคงของชาติ การทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายการบริหารจัดการกิจกรรม 

โดยอาศัยทรัพยากรที่มีอยู่ให้เต็มประสิทธิภาพ นำเสนอกิจกรรมที่เหมาะสมลงไปสู่กลุ่มเป้าหมายในระดับจังหวัด อำเภอหรือหมู่บ้าน

พสบ. ทบ. เป็นหนึ่งในเครือข่ายที่มีศักยภาพสูงมากของกองทัพบก สมาชิกชมรม พสบ. ทบ. ประกอบด้วย ผู้ผ่านการอบรมตามเกณฑ์ของหลักสูตร ข้าราชการทหาร ตำรวจ ชั้นสัญญาบัตร  ตั้งแต่ตำแหน่งผู้บริหารระดับต้นขึ้นไป  ได้แก่ ตำแหน่งรองผู้บังคับการกรม หรือรองผู้อำนวยการกอง ส่วนข้าราชการพลเรือน พนักงานรัฐวิสาหกิจและพนักงานองค์กรของรัฐ นักธุรกิจภาคเอกชน ระดับผู้บริหาร ผู้จัดการหรือเทียบเท่าเจ้าของกิจการ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศกว่า 3,000  คน  โดยมุ่งหวังที่จะถักสานเครือข่ายเหล่านี้เให้เกิดพลังในการพัฒนาชาติในองค์ร่วม ให้มีความมั่นคงและยั่งยืน 

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์หลักในการเข้าอบรมก็เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน ความคิดเห็น ผ่านการ  พูดคุย การเสวนา การดูงาน การทัศนศึกษา ที่สำคัญคือ การลงมือทำในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านกิจกรรมลงในพื้นที่ในท้องถิ่นและชุมชนนั้น ๆ เพื่อเป็นกำลังใจและบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในยามทุกข์ยาก ตลอดจนการมีส่วนร่วมในกิจกรรมของกองทัพบก เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ 

สำหรับกิจกรรมสำคัญของชมรมที่คณะกรรมการบริหารได้เห็นชอบให้ดำเนินการเป็นกิจกรรมแรกหลังจากที่ประธาน พสบ.ทบ. คนใหม่เข้ารับตำแหน่งในปีบริหารนี้  คือ กิจกรรม “พสบ. ทบ. รวมใจพัฒนาชาติ” เสริมสร้างอุดมการณ์ความรัก ชาติ ศาสน์ กษัตริย์  เทิดทูนสถาบัน  ของกองทัพบก   ผ่านผืนธงชาติไทยอันเป็นศูนย์รวมจิตใจของพี่น้องประชาชนชาวไทย โดยขอให้กรมพลาธิการ กองทัพเรือ เป็นผู้ผลิตธงชาติ 2,000  ผืน เพื่อให้แม่ทัพภาค 1 ,แม่ทัพภาค 2 ,แม่ทัพภาค 3,และแม่ทัพภาค 4 มอบให้หมู่บ้านริมขอบชายแดนเพื่อทดแทนผืนธงชาติเดิมที่ชำรุดไปตามกาลเวลาต่อไป  

พร้อมกันนี้ พลโทวรรนพ นาคประสิทธิ์ รองประธานฝ่ายรัฐสัมพันธ์ ชมรม พสบ.ทบ.หนึ่งในนายทหารอาวุโส ซึ่งผ่านหลักสูตร พสบ. ทบ.  ส่วนกลาง รุ่นที่ 22  กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ในชมรม ฯ ว่า  ท่านได้รับมอบหมายภารกิจงานด้านรัฐสัมพันธ์ การติดต่อประสานงานกับหน่วยงานรัฐต่างๆ  งานกิจการพลเรือนที่กองทัพบกทำมาโดยตลอด มีความจำเป็นที่จะต้องอาศัยศักยภาพและแนวคิดในการบริหารจัดการใหม่ๆ ของภาคเอกชนเข้ามาร่วมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันมีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดซึ่งเอกชนมีความพร้อม มีศักยภาพมากกว่าในการติดตาม รับรู้ เข้าใจและปรับตัวให้เข้ากับความก้าวหน้านั้นๆ ในทุกมิติ  หลักสูตร พสบ. ทบ. จึงเป็นการสร้างเครือข่ายร่วมกันระหว่างเอกชนและกำลังพลของกองทัพ

ชมรม พสบ.ทบ. จึงเป็นผลผลิตอันเป็นเครือข่ายที่สำคัญยิ่งของกองทัพบก และหน่วยงานอื่นๆ ก็ได้ขอนำเอาหลักสูตรนี้ไปใช้กับตนเอง เช่น พสบ. ทร. ของทหารเรือ พสบ. ทอ. ของทหารอากาศ และพสบ. ทท. ของกองทัพไทย เป็นต้น   ทั้งนี้ ยังไม่รวมสถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานด้านการปกครองหรือด้านงานยุติธรรมต่างๆ ก็มีการกำหนดหลักสูตรในลักษณะเดียวกันด้วย จะเห็นได้ว่า ทั่วทั้งประเทศมีนักศึกษาที่จบหลักสูตร “พัฒนาสัมพันธ์ระดับผู้บริหาร” เป็นจำนวนมากมายเรือนหมื่นคน ซึ่งก็อาศัยพื้นฐานการศึกษามาจาก พสบ. ของ กองทัพบกนั่นเอง
สมาชิก พสบ. เหล่านี้
 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พสบ. ทบ. ได้นำเอาทักษะความรู้ความสามารถที่มีมาช่วยเหลือทางกองทัพเป็นอย่างยิ่ง ทั้งที่เข้ามาเป็นวิทยากรผู้บรรยาย เป็นที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญให้แก่กองทัพ เป็นผู้ร่วมงานวิจัยพัฒนาหรือผลิตยุทโธปกรณ์ที่สำคัญๆของกองทัพ อันเป็นการลดค่าใช้จ่ายพร้อมกับเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันประเทศ รวมถึงการร่วมสนับสนุนกิจกรรมของกองทัพในวาระที่กองทัพได้ขอความร่วมมือ  

กิจกรรม “พสบ. ทบ. รวมใจพัฒนาชาติ” ของคณะกรรมการบริหารชมรมฯ ชุดนี้  ซึ่งเป็นการผลิตแล้วส่งมอบผืนธงชาติไปยังกลุ่มเป้าหมาย ไม่ใช่เรื่องใหม่  แต่การจัดการกิจกรรมที่สามารถสร้างความศักดิ์สิทธิ์ ความศรัทธา ของพี่น้องชาวไทยตามขอบชายแดนที่ได้รับผืนธงชาตินั้นๆ ต่างหากเป็นสิ่งสำคัญ   ผืนธงชาติผืนนี้ แม้จะเป็นผืนผ้าผืนหนึ่งแต่พิธีกรรมในการจัดทำ ส่งมอบ นำขึ้นสู่เสาธง จะสามารถที่จะทำให้ผู้รับมีความตระหนักรักชาติ มีความผูกพันต่อชาติ ยึดมั่นในศาสนาที่ตนนับถือเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ และก่อให้เกิดความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์อย่างแท้จริง

จะเห็นได้ว่า การขับเคลื่อนกิจกรรมของชมรม พสบ. ทบ. คือ การสร้างแนวร่วมทางความคิดของสมาชิกทั้งภาครัฐและเอกชน ให้ความเชื่อมั่นและความศรัทธาด้วยกัน โดยไม่แบ่งแยกหมู่เหล่า ช่วยกันขับเคลื่อนกิจกรรมที่ต่างมีความเห็นชอบร่วมกันไปสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม โดยอาศัยทรัพยากรที่มีอยู่ของทุกภาคส่วนแม้ว่าจะมีข้อจำกัดหรือความขัดข้องแต่ด้วยความรักความสามัคคี พวกเรา พสบ. ทบ. ก็สามารถช่วยกันขจัดปัญหาข้อขัดข้องต่างๆ นำไปสู่ความสำเร็จได้ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น

รูปภาพธีมโดย graphixel. ขับเคลื่อนโดย Blogger.