รพ.ธนบุรี บำรุงเมือง พญ. วีณา ครุฑสวัสดิ์ สูตินรีแพทย์ ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ปลดล็อคเทคนิคแก้ปัญหาผู้มีบุตรยากด้วยการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF)
ปัญหาสำหรับคู่สมรสที่อยากมีบุตร หลายคู่พยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีการธรรมชาติแต่ยังไม่ได้ผล หลายคู่ใช้เวลาหลายปีเพื่อรอคอยลูกน้อยที่จะมากำเนิด การแก้ไขปัญหาที่ถูกจุดจึงเป็นส่วนช่วยให้คู่สมรสที่อยากจะมีบุตรได้มีครอบครัวที่สมบูรณ์มากขึ้น เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์จึงมีบทบาทสำคัญการแก้ไขปัญหาภาวะผู้มีบุตรยาก ซึ่งการทำเด็กหลอดแก้ว หรือ IVF ถือเป็นอีกหนทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหา ถ้าตัวอ่อนได้รับการตรวจโครโมโซมแล้วคุณภาพดี อัตราความสำเร็จจะมีอยู่ถึง 70-80%
พญ. วีณา ครุฑสวัสดิ์ สูตินรีแพทย์ ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ Excellent IVF Center รพ.ธนบุรี บำรุงเมือง ได้อธิบายถึงการทำเด็กหลอดแก้ว หรือ IVF ว่า เด็กหลอดแก้ว หรือ IVF มาจากคำว่า In vitro fertilization หมายถึง การปฏิสนธินอกร่างกาย โดยการเก็บไข่ที่สุกเต็มที่แล้วออกมานอกร่างกายฝ่ายหญิง แล้วนำไปผสมกับเชื้ออสุจิของฝ่ายชายในหลอดทดลอง จึงเป็นที่มาของคำว่า เด็กหลอดแก้ว ซึ่งการปฏิสนธินอกร่างกายมี 2 วิธีใหญ่ๆ 1.การทำ IVF เป็นคัดอสุจิที่แข็งแรงของฝ่ายชายจำนวนหนึ่งให้เกิดการปฏิสนธิกับไข่ของฝ่ายหญิงในหลอดทดลอง 2.การทำ ICSI (อิ๊กซี่) เป็นการคัดเอาตัวอสุจิที่มีความแข็งแรงที่สุด ผ่านด้วยวิธีการส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์และฉีดอสุจิเข้าไปในเซลล์ไข่โดยตรง ซึ่งทางศูนย์ฯได้มีเทคโนโลยี Piezo-ICSI ที่ช่วยลดความเสียหายของเซลล์ไข่ระหว่างการฉีดอสุจิเข้าไป โดยใช้แรงสั่นสะเทือนที่
เหมาะสมในการเจาะไข่ แทนการใช้เข็มปลายแหลมแบบ ICSI ทั่วไป วิธีนี้เหมาะสำหรับคนไข้ที่มีเปลือกไข่เปราะบาง ช่วยเพิ่มอัตราการปฏิสนธิ เมื่อไข่และอสุจิปฏิสนธิเรียบร้อยแล้ว จึงพัฒนาเป็นตัวอ่อน ซึ่งตัวอ่อนจะถูกเลี้ยงในตู้เลี้ยงตัวอ่อน Embryoscope Time-lapse System ที่มีการติดตั้งระบบการถ่ายภาพไว้ภายใต้สภาวะที่เหมาะสม และใช้ในการคัดเลือกตัวอ่อนที่จะใส่กลับเข้าไปในโพรงมดลูก เพื่อให้มีการตั้งครรภ์ต่อไป
ทั้งนี้นิยามของภาวะผู้มีบุตรยาก คือ คู่สมรสที่มีเพศสัมพันธ์กันปกติสม่ำเสมอ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ จนนานถึง 1 ปี แล้วไม่ตั้งครรภ์ หรือเมื่อคู่สมรสลองมีบุตรด้วยวิธีธรรมชาติ ประมาณ 6 เดือน และไม่ประสบความสำเร็จก็ควรที่จะไปปรึกษาแพทย์ อาจจะไม่จำเป็นต้องรอให้ถึง 1 ปีตามนิยามของภาวะผู้มีบุตรยาก เพราะแต่ละคนมีภาวะความเสี่ยงที่จะมีบุตรยากแตกต่างกัน
ภาวะผู้มีบุตรยากอาจเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุซึ่งแพทย์จะให้คำแนะนำและรักษาที่เหมาะสมเฉพาะคนไข้แต่ละราย วิธีการในการแก้ไขภาวะผู้มีบุตรยาก มีหลายวิธีด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นวิธีธรรมชาติคือ การนับวันไข่ตก ถ้าไม่สำเร็จก็จะเป็น การใช้ยา (รับประทานหรือฉีด) เพื่อชักนำให้มีไข่โตและมีการตกไข่ และถ้าไม่สำเร็จอีกก็จะเป็นการฉีดเชื้อเข้าโพรงมดลูก (IUI)
การเตรียมตัวในด้านสุขภาพสำหรับคู่สมรส ก่อนการทำเด็กหลอดแก้ว ต้องงดสุรา งดสูบบุหรี่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย ปรับสภาพจิตใจให้สบาย และอาจจะต้องรับประทานวิตามิน ยาบำรุงตามคำแนะนำของแพทย์
ขั้นตอนในการทำเด็กหลอดแก้ว ประกอบด้วย 2 ส่วนด้วยกัน ขั้นตอนแรกคือการกระตุ้นไข่ของฝ่ายหญิงจะใช้เวลา 9-12 วัน หลังจากนั้นจะทำการเก็บไข่ นำไปปฏิสนธิกับอสุจิที่ภายนอก ด้วยวิธี Piezo-ICSI และเลี้ยงตัวอ่อนประมาณ 5-6 วัน แล้วจึงนำตัวอ่อนไปแช่แข็งไว้ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนที่สอง คือขั้นตอนการย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก โดยจะมีาการเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูก ใช้เวลาประมาณ 19-20 วัน แล้วจึงทำการย้ายตัวอ่อนเข้าไปใส่ในโพรงมดลูกเพื่อให้มีการตั้งครรภ์ต่อไป หลังจากย้ายตัวอ่อนแล้ว 10 วัน จึงจะสามารถตรวจผลการตั้งครรภ์ได้ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน
นอกจากนี้ผู้หญิงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปหรือครอบครัวที่มีโรคถ่ายทอดทางพันธุกรรม ควรตรวจโครโมโซมหรือตรวจพันธุกรรมตัวอ่อนก่อนฝังตัวเข้าไปยังโพรงมดลูก จะทำให้ทราบถึงความผิดปกติของตัวอ่อนก่อนการฝังตัว เพื่อลดความเสี่ยงการตั้งครรภ์ทารกที่เป็นดาวน์ซินโดรม เสี่ยงต่อภาวะแท้ง และโรคทางพันธุกรรม ทำให้มีโอกาสในการตั้งครรภ์สูงขึ้น 70-80% และความสำเร็จจะมีอยู่ถึง 70-80% อย่างไรก็ตามแพทย์ได้ให้คำแนะนำสำหรับคู่สมรสที่ต้องการจะมีบุตรหรือคู่สมรสที่เผชิญกับภาวะผู้มีบุตรยาก เมื่อทราบปัญหาควรเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์โดยทันทีเพื่อให้ผลการรักษาประสบความสำเร็จสูงขึ้น.
โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง (Thonburi Bamrungmuang Hospital) โทร. 097 234 0746, 02 220 7999 ต่อ 84000
Facebook : Excellent IVF Thonburi Bamrungmuang Hospital Line:@excellentivfthb
และเว็บไซต์ : https://www.thonburibamrungmuang.com/th/
“Thonburi Bamrungmuang Hospital Disruptive Technology Live Healthier … Live Longer”
ไม่มีความคิดเห็น