ความเคลื่อนไหวในไทยแลนด์ ยุค 4.00

ความเคลื่อนไหวในไทยแลนด์ ยุค 4.00

โครงการสำมะโนการเกษตร พ.ศ. 2566 ในภูมิภาค (จังหวัดเพชรบุรี) เดินหน้าสร้างฐานข้อมูล ขับเคลื่อนภาคการเกษตรของประเทศสู่ความก้าวหน้า

กิจกรรมเพื่อประชาสัมพันธ์การจัดทำโครงการสำมะโนการเกษตร พ.ศ. 2566 ในภูมิภาค (จังหวัดเพชรบุรี) จัดในวันพฤหัสบดีและศุกร์ที่ 25 และ 26 พฤษภาคม 2566 เปิดงานโดย ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ และ นางสาวกฤษณา จิรวัฒน์สถิตย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เดินหน้าจัดทำสำมะโนการเกษตร เก็บรวบรวมข้อมูลข้อ​​มูลโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตรจากผู้ถือครองทำการเกษตร ​(ครัวเรือน/สถานประกอบการเกษตร) ที่อยู่ในระบบทะเบียนเกษตรกรและนอกระบบทะเบียนเกษตรกร โดยดำเนินการในทุกพื้นที่ของประเทศ เพื่อนำมาประมวลผลเป็นข้อมูลสถิติ และเผยแพร่ข้อมูล ซึ่งเป็นประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศ

ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ จึงขอเชิญชวน เกษตรกรและผู้ถือครองทำการเกษตรในทุกพื้นที่ ร่วมกันให้ข้อมูลกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่จะลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูลด้านการเกษตร ระหว่าง เดือนพฤษภาคม ถึง เดือนมิถุนายน 2566 ในส่วนของกระทรวงดิจิทัลฯ ที่มีภารกิจในการส่งเสริม สนับสนุน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยใช้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ซึ่งข้อมูลที่ได้รับจากโครงการนี้ ส่วนหนึ่งจะชี้ให้เห็นถึงรูปแบบ วิธีทำการเกษตร เศรษฐกิจสังคม ของครัวเรือน รวมทั้งข้อมูลอื่นๆ ที่อยู่ในกระแส สถานการณ์ ปัญหาในปัจจุบัน เพื่อนำไปสู่การส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรรม ให้มีความอุดมสมบูรณ์และยั่งยืน โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรมทางการเกษตร เพื่อเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพในการเกษตร พร้อมทั้งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

ทางด้าน นางสาวกฤษณา จิรวัฒน์สถิตย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “โครงการสำมะโนการเกษตร พ.ศ. 2566 ครั้งที่ 7 นี้ ได้จัดกิจกรรมขึ้นที่จังหวัดเพชรบุรี ในส่วนของวันพฤหัสบดี ที่ 25 พฤษภาคม 2566 จะมีการลงพื้นที่วิสาหกิจชุมชน ช่องสะแก และวันศุกร์ ที่ 26 พฤษภาคม 2566 เป็นการลงพื้นที่ที่สำนักงานวิสาหกิจชุมชนแพปลาชุมชนตำบลแหลมผักเบี้ย เพื่อจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์โครงการสำมะโนการเกษตรกับเกษตรกร พร้อมกับคุณมาดี พนักงานแจงนับ จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ และได้มีการ เชิญชวน สื่อมวลชน เพื่อร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ พร้อมยกระดับวิธีการจัดทำสำมะโนให้ทันสมัย และเป็นมาตรฐานในการจัดเก็บข้อมูล โดยได้เชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกรกลาง หรือ Farmer One มาสร้างเป็นฐานข้อมูลผู้ถือครองการเกษตร สำหรับสำมะโนการเกษตรกรและพัฒนาไปสู่การจัดทำสำมะโนจากข้อมูลทะเบียนอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้มีข้อมูลอย่างเพียงพอในการติดตามและกำหนดแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาด้านการเกษตรของประเทศรวมถึงคุณภาพชีวิตของเกษตรกร โดยหน่วยงานต่างๆ สามารถใช้ข้อมูลสำมะโนที่มีความถูกต้องและน่าเชื่อถือไปพัฒนาการจัดทำสถิติด้านการเกษตรของประเทศด้วยรูปแบบการบูรณาการระหว่างหน่วยงานและใช้ประโยชน์ข้อมูลร่วมกัน”

การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับใช้ในการดำเนินการโครงการสำมะโนการเกษตร ทำให้ข้อมูลมีความถูกต้อง ครบถ้วน และมีคุณภาพตามมาตรฐานสากลที่สามารถใช้อ้างอิงในการเปรียบเทียบกับนานาชาติได้ และในการรวบรวมข้อมูลการจัดทำโครงการสำมะโนการเกษตรใน พ.ศ. 2566 สำนักงานสถิติแห่งชาติจะเก็บข้อมูลทั้งผู้ที่อยู่ในระบบทะเบียนและนอกระบบทะเบียนจากเกษตรกรทุกรายสำหรับการวางแผนและพัฒนาด้านการเกษตรของประเทศ โดยการเก็บข้อมูลสำมะโนการเกษตรครอบคลุมในด้านต่างๆ ดังนี้

• การปลูกพืช เช่น ข้าว ยางพารา พืชยืนต้น ไม้ผลและสวนป่า รวมไปถึงไม้ดอกไม้ประดับทุกชนิด

• การเลี้ยงสัตว์ เช่น โค กระบือ สุกร แพะ แกะ ไก่ เป็ด ห่าน ไหม และสัตว์อื่นๆ ที่ไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557

• การเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่น้ำจืด (รวมถึงการเพาะฟัก/รวมถึงการอนุบาลสัตว์น้ำในพื้นที่น้ำจืด) ได้แก่สัตว์จำพวกปลา กุ้ง และสัตว์น้ำอื่นๆ

• การทำนาเกลือสมุทร

การดำเนินโครงการสำมะโนการเกษตรในครั้งนี้ มีระยะเวลาการเก็บข้อมูลระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึง มิถุนายน พ.ศ. 2566 โดยผู้ที่เก็บรวบรวมข้อมูล คืออาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) อาสาสมัครเกษตรประเภทอื่นภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมไปถึงผู้มีความรู้ความสามารถเหมาะสมในการปฏิบัติงานดังกล่าว การทำสำมะโนการเกษตรเป็นกระบวนการทางสถิติในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประมวลผลข้อมูล และนำเสนอผลเพื่อให้เกิดข้อมูลสถิติการเกษตรที่ทันสมัย โดยหน่วยงานภาครัฐและเอกชนสามารถนำข้อมูลไปใช้ในทุกภาคส่วน และยังเป็นฐานข้อมูลผู้ถือครองพื้นที่การเกษตรทั้งผู้ที่อยู่ในและนอกระบบทะเบียนการเกษตรโดยสามารถใช้ข้อมูลในการแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานเพื่อเป็นประโยชน์ร่วมกัน อีกทั้งยังก่อให้เกิดข้อมูลการเกษตรระดับพื้นที่ย่อยไปจนถึงระดับประเทศเพื่อใช้ในการบริหารและกำหนดนโยบายเพื่อเกษตรกรและประชาชนในภาคเกษตร  

นอกเหนือจากนี้ การทำสำมะโนการเกษตรทำให้มีข้อมูลในการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทาง การเกษตร การพัฒนาภาคการเกษตร รวมถึงประชากรภาคการเกษตรของประเทศ และข้อมูลการทำสำมะโนการเกษตรสามารถใช้เป็นกรอบตัวอย่าง (Sampling Flame) สำหรับการสำรวจด้านการทำเกษตรและเป็นช่องทางในการสะท้อนปัญหาที่สามารถเก็บข้อมูลความต้องการหรือข้อร้องเรียนของเกษตรกรได้อีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น

รูปภาพธีมโดย graphixel. ขับเคลื่อนโดย Blogger.