ความเคลื่อนไหวในไทยแลนด์ ยุค 4.00

ความเคลื่อนไหวในไทยแลนด์ ยุค 4.00

สพฉ.ย้ำบริการ 1669 พร้อมให้บริการในสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้

 

( 4 ธ.ค. 63) ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ทางภาคใต้ ว่า สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้จัดทีมเฝ้าระวังสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยได้ตรวจสอบคู่สาย 1669 ให้พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงควรจดจำหมายเลขโทรศัพท์สายด่วน 1669 ให้ได้ หากบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถโทรแจ้งขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งระบบการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินจะอำนวยการในการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินได้ทันท่วงที


เลขาธิการสพฉ. กล่าวว่า ในส่วนของถนนหลายสายที่ถูกน้ำกัดเซาะจนไม่สามารถสัญจรได้ หน่วยงานภาคีเครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉิน อาสาสมัครมูลนิธิต่าง ๆ ได้นำเรือท้องแบนและเสื้อชูชีพเข้าไปให้บริการในพื้นที่เพื่อนำส่งประชาชนและผู้ป่วยฉุกเฉินให้ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลที่ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม นอกจากนี้ในส่วนของโรงพยาบาลอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบ สพฉ.เตรียมให้การสนับสนุนหากมีความจำเป็นต้องส่งตัวผู้ป่วยและถนนไม่สามารถใช้งานได้ เราก็จัดเตรียมการลำเลียงทั้งทางเรือ และทางอากาศยานไว้คอยให้บริการในการส่งต่อผู้ป่วยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ ยังได้กล่าวเตือนประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมด้วยว่า ช่วงนี้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ อาจก่อให้เกิดน้ำป่าและน้ำท่วมเฉียบพลันได้ จึงขอให้ประชาชนคอยฟังประกาศเตือนภัยและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และต้องเตรียมการในเบื้องต้นเพื่อระวังภัยโดยการตรึงประตู หน้าต่าง ให้มั่นคง ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรขณะฝนตกฟ้าคะนอง ส่วนการป้องกันเหตุน้ำป่า น้ำท่วมฉับพลันประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยต้องรีบอพยพขึ้นที่สูง ควรสวมเสื้อชูชีพ โดยหลีกเลี่ยงการเดินผ่านแนวธารน้ำ ช่องระบายน้ำ ห้ามเดิน หรือขับขี่รถฝ่ากระแสน้ำเด็ดขาด หากเกิดน้ำท่วมระหว่างอยู่ในรถ และน้ำขึ้นสูงรอบๆรถ ให้รีบเปิดกระจกและออกจากรถโดยเร็ว  รวมถึงระวังอันตรายจากสัตว์มีพิษที่มากับน้ำ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง เป็นต้น

สำหรับพื้นที่ที่คาดว่าจะมีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน เลขาธิการสพฉ. ย้ำว่า ควรจัดเตรียมกระเป๋ายังชีพฉุกเฉิน และจัดทำรายการสิ่งของจำเป็นที่ต้องเตรียม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหาร น้ำดื่ม ยาประจำตัว ชุดปฐมพยาบาล สำหรับผู้หญิงควรมีผ้าอนามัย สำหรับเด็กทารกควรเตรียมนมผง หรือนมพร้อมดื่ม ขวดนม อาหารเสริม ผ้าอ้อม สำหรับบ้านที่มีผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาเป็นประจำ ขอให้เตรียมเอกสาร บัตรประจำตัวประชาชน บัตรประกันสุขภาพ และแจ้งข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ อสม. เพื่อให้จัดเตรียมการช่วยเหลือหากมีเหตุฉุกเฉิน 

สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังและต้องรับประทานยาเป็นประจำ แต่ไม่สามารถเดินทางไปรับยาที่รพ.ได้ หรือ ยาถูกน้ำท่วมหมด นั้น ไม่ควรขาดยาเพราะจะเกิดถาวะแทรกซ้อนต่างๆ ให้ติดต่อประสานไปยังโรงพยาบาลที่รักษาอยู่ หรือ ติดต่อที่สายด่วนเบอร์ 1669 ซึ่งสามารถให้คำปรึกษาและขอความช่วยเหลือได้” เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ทิ้งท้าย


ไม่มีความคิดเห็น

รูปภาพธีมโดย graphixel. ขับเคลื่อนโดย Blogger.