ความเคลื่อนไหวในไทยแลนด์ ยุค 4.00

ความเคลื่อนไหวในไทยแลนด์ ยุค 4.00

กรมควบคุมโรค ร่วมกับภาคีเครื่อข่าย ประชุมถอดบทเรียนการจัดการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

วันนี้ (6 ธันวาคม 2565) ณ โรงแรมพูลแมน พัทยา จี อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการอภิปรายผลการถอดบทเรียนการดำเนินการจัดการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ร่วมกับนายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี และนายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค 

นายแพทย์ธเรศ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่เกิดขึ้น ในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค ได้ประกาศยกระดับศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ขึ้น ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 จนถึงปัจจุบัน และได้ดำเนินการเฝ้าระวัง สอบสวน ควบคุมโรคมาอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด จํากัดขอบเขตการแพร่กระจายของโรค ซึ่งหน่วยงานทุกภาคส่วนได้ปฏิบัติหน้าที่ ในการดำเนินการตอบโต้เหตุการณ์ ด้วยความมุ่งมั่น เสียสละ อดทน มาอย่างต่อเนื่อง

กรมควบคุมโรค เล็งเห็นความสำคัญของการบริหารจัดการโรคติดต่ออุบัติใหม่ อุบัติซ้ำในทุกมิติ โดยมีความพร้อมอยู่เสมอจะเห็นได้จากความพร้อมในการรักษาผู้ติดเชื้ออุบัติใหม่อย่างโควิด 19 โดยสถาบันบำราศนราดูร ซึ่งมีความพร้อมที่จะดูแลรักษา และกักกันผู้ป่วยโรคติดต่ออุบัติใหม่ จนสามารถรองรับผู้ป่วย และให้การรักษาได้ตั้งแต่รายแรก ทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ และเป็นตัวอย่างในการถอดบทเรียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้การบริหารจัดการและควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 นำไปสู่การประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 11-15 พฤษภาคม 2565 ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย  จึงมีฉันทามติให้จัดตั้งสำนักงานเลขาธิการ ACPHEED ที่ประเทศไทย และในระยะแรกมี 3 ประเทศ คือ เวียดนาม อินโดนีเซีย ไทยที่รับเป็นแกนนำดำเนินการด้านการป้องกัน (Prevention) การตรวจจับ (Detection) และการตอบโต้ (Response) สำนักงานเลขาธิการจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศและศูนย์ทรัพยากรระดับภูมิภาคอาเซียน เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะและขีดความสามารถในการป้องกัน ตรวจจับ และตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่       และประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรและประเทศต่างๆ นอกภูมิภาคอาเซียน

นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า การถอดบทเรียนการจัดการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีความสำคัญสำหรับบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ได้นำผลการถอดบทเรียนดังกล่าว ไปพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงาน ให้เกิดประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงนำไปปรับใช้ในการจัดทำแผน เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขในอนาคตต่อไป 

ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 150 คน จากหน่วยงานภายนอกกระทรวงสาธารณสุข อาทิ (เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร) สถาบันวัคซีนแห่งชาติ หน่วยงานภายในกระทรวงสาธารณสุข อาทิ (เช่น สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข : กองสาธารณสุขฉุกเฉิน กองบริหารการสาธารณสุข กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมสุขภาพจิต กรมอนามัย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา องค์การเภสัชกรรม สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ศูนย์ความร่วมมือไทย - สหรัฐ ด้านสาธารณสุข (ฝ่ายไทย) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รวมถึงหน่วยงานส่วนกลางกรมควบคุมโรค สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1-12 และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง 


********************************

ข้อมูลจาก : กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 6 ธันวาคม 2565

ไม่มีความคิดเห็น

รูปภาพธีมโดย graphixel. ขับเคลื่อนโดย Blogger.